ธวัชวงศ์ ณ เชียงใหม่ (คำเมือง: ) หรือ เจ้าหนุ่ย อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข ในรัฐบาลนายบรรหาร ศิลปอาชา อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง และอดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ในรัฐบาลพลเอกชวลิต ยงใจยุทธ อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดเชียงใหม่ 5 สมัย อดีตรองหัวหน้าพรรคความหวังใหม่ และอดีตนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงใหม่
ธวัชวงศ์ สืบทอดเชื้อสายราชตระกูล ณ เชียงใหม่ (เจ้าเจ็ดตน) สายของพระเจ้าช้างเผือกธรรมลังกา ซึ่งเป็นสายเดียวกันกับนางยินดี ชินวัตร มารดาของพันตำรวจโททักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี
ธวัชวงศ์ ณ เชียงใหม่ เกิดเมื่อวันที่ 14 ธันวาคม พ.ศ. 2488 เป็นบุตรของเจ้าไชยสุริวงศ์ ณ เชียงใหม่ นักธุรกิจเจ้าของโรงภาพยนตร์แห่งแรกของจังหวัดเชียงใหม่ กับแม่นายเต็ม ณ เชียงใหม่ มีศักดิ์เป็นหลานของเจ้าไชยณรงค์ ณ เชียงใหม่ อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดเชียงใหม่ และมีศักดิ์เป็นลูกพี่ลูกน้องกับยินดี ชินวัตร (มารดาของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร และยิ่งลักษณ์ ชินวัตร) ธวัชวงศ์ มีพี่สาวคือ ช่อแก้ว วิสุทธิ์เสรีวงศ์
ธวัชวงศ์ สมรสกับกิ่งกาญจน์ ณ เชียงใหม่ (สกุลเดิม: โกไศยกานนท์) มีธิดา 2 คน คือ ร้อยเอกหญิง ดร. เดือนเต็มดวง ณ เชียงใหม่ อดีตนายกเทศมนตรีนครเชียงใหม่ และแสงตะวัน ณ เชียงใหม่ คัมภีรญาณนนท์ กรรมการผู้อำนวยการกลุ่มบริษัทโกลบอล
ธวัชวงศ์ เป็นบุตรชายของเจ้าไชยสุริวงศ์ ซึ่งมิได้เป็นเจ้าห้าขันในวงศ์เจ้านายฝ่ายเหนือ กับมารดาที่เป็นสามัญชน จึงมิได้มีฐานันดรเป็น "เจ้า" ตามบิดา แต่จังหวัดเชียงใหม่ ก็ยังให้ความสำคัญในฐานะเจ้านายฝ่ายเหนือ รวมถึงยังมีบทบาทในการเป็นกรรมการมูลนิธินวราชดำริอนุรักษ์ฝ่ายเหนือ ซึ่งเป็นมูลนิธิที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ มีพระราชดำริให้จัดตั้งขึ้นเพื่อสืบทอดวัฒนธรรมของฝ่ายเหนือ
ธวัชวงศ์ ณ เชียงใหม่ ศึกษาชั้นประถมศึกษาและมัธยมศึกษา จากโรงเรียนมงฟอร์ตวิทยาลัย จังหวัดเชียงใหม่ ระดับปริญญาตรี วิศวกรรมศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาวิศวกรรมโยธา จากมหาวิทยาลัยนอร์ทแคโรไลนาสเตต ประเทศสหรัฐอเมริกา และระดับปริญญาโท สาขารัฐศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ธวัชวงศ์ เป็นผู้เริ่มก่อตั้งกิจการโรงแรมมีชื่อว่า "โรงแรมดวงตะวัน" (ปัจจุบันคือ โรงแรมเซ็นทาราดวงตะวัน) ร่วมกับเจ้าบิดา และพี่สาว เริ่มก่อสร้างเมื่อปี พ.ศ. 2533 และเปิดให้บริการในปี พ.ศ. 2536 ต่อมาได้ขยายกิจการให้นายวัฒนา อัศวเหม ในปี พ.ศ. 2539
ธวัชวงศ์ ณ เชียงใหม่ ลงสมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ในการเลือกตั้ง พ.ศ. 2529 มีหมายเลขประจำตัวคือ หมายเลข 13 สังกัดพรรครวมไทย แต่ได้คะแนนเป็นลำดับที่ 4 โดยแพ้ให้กับนายสุรพันธ์ ชินวัตร จากพรรคชาติไทย ต่อมาเขาได้รับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดเชียงใหม่ ครั้งแรกในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทยเป็นการทั่วไป พ.ศ. 2531 สังกัดพรรคกิจสังคม จากนั้นจึงย้ายมาร่วมงานกับพรรคความหวังใหม่ และได้รับเลือกต่อมาในการเลือกตั้ง พ.ศ. 2535/1 การเลือกตั้ง พ.ศ. 2535/2 การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทยเป็นการทั่วไป พ.ศ. 2538 และการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทยเป็นการทั่วไป พ.ศ. 2539 ซึ่งเป็น ส.ส.ที่ได้รับคะแนนสูงที่สุด ต่อมาในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทยเป็นการทั่วไป พ.ศ. 2544 ได้ลงสมัครรับเลือกตั้งในสังกัดพรรคความหวังใหม่ แต่ไม่ได้รับเลือกตั้ง โดยได้คะแนนเป็นอันดับที่ 3 รองจากนายพรชัย อรรถปรียางกูร จากพรรคไทยรักไทย และนายพงศ์ประยูร ราชอาภัย จากพรรคประชาธิปัตย์
ต่อมาในปี พ.ศ. 2547 ได้มีการเลือกตั้งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดโดยตรงเป็นครั้งแรก และธวัชวงศ์ ณ เชียงใหม่ ได้รับการเลือกตั้งให้เป็นนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงใหม่ในครั้งนั้น โดยสนับสนุนของพรรคไทยรักไทย เช่นเดียวกับนายอุดรพันธ์ จันทรวิโรจน์ ผู้สมัครอีกคนหนึ่ง แต่ในการเลือกตั้งครั้งต่อมาในปี พ.ศ. 2551 ธวัชวงศ์ ณ เชียงใหม่ ได้ลาออกจากการเป็นสมาชิกพรรคไทยรักไทย และลงสมัครรับเลือกตั้งอีกสมัย แต่แพ้การเลือกตั้งให้กับบุญเลิศ บูรณุปกรณ์ ผู้สมัครที่ได้รับการสนับสนุนจากพรรคไทยรักไทย หลังจากนั้นธวัชวงศ์ ณ เชียงใหม่ จึงได้วางมือทางการเมืองชั่วคราว
ธวัชวงศ์ ณ เชียงใหม่ เข้ามามีบทบาททางการเมืองอีกครั้งเมื่อเขาสนับสนุนภรรยาของเขา ลงสมัครรับเลือกตั้งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงใหม่ ในปี พ.ศ. 2555 แต่ไม่ได้รับเลือกตั้ง และการเลือกตั้งซ่อมสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเขต 3 เชียงใหม่ พ.ศ. 2556 ของภรรยาของเขา ในนามพรรคประชาธิปัตย์
ธวัชวงศ์ ณ เชียงใหม่ เคยดำรงตำแหน่งทางการเมือง ได้แก่ ประจำสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ในปี พ.ศ. 2532 และเป็นเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย (พลเอกชวลิต ยงใจยุทธ) ในปี พ.ศ. 2535
ต่อมาได้รับแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข ในรัฐบาลนายบรรหาร ศิลปอาชา โดยมีผลงานในการริเริ่มให้มีการจัดตั้งองค์กรสนับสนุนและพัฒนาการส่งเสริมสุขภาพ เมื่อปี พ.ศ. 2539 จนเป็นที่มาของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ ในปัจจุบัน และได้รับแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ในรัฐบาลพลเอกชวลิต ยงใจยุทธ ซึ่งต่อมาถูกปรับไปรับตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ในเดือนตุลาคม พ.ศ. 2540 ก่อนจะสิ้นสุดความเป็นรัฐมนตรีเนื่องจากนายกรัฐมนตรีลาออกจากตำแหน่ง ในเดือนพฤศจิกายนของปีเดียวกัน
ธวัชวงศ์ ณ เชียงใหม่ ได้รับแต่งตั้งเป็นรองเลขาธิการพรรคความหวังใหม่ ในการประชุมสามัญ ประจำปี 2534 เมื่อวันที่ 22 ธันวาคม พ.ศ. 2534 และได้รับแต่งตั้งเป็นรองหัวหน้าพรรคความหวังใหม่ ในการประชุมใหญ่สามัญประจำปี 2541 เมื่อวันที่ 27 เมษายน พ.ศ. 2542
ธวัชวงศ์ ณ เชียงใหม่ ได้รับโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเป็นกรรมการสภามหาวิทยาลัยผู้ทรงคุณวุฒิ มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2548 ซึ่งเป็นกรรมการสภามหาวิทยาลัยชุดแรก นับตั้งแต่ได้รับการยกฐานะเป็นมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่
ธวัชวงศ์ ณ เชียงใหม่ เคยได้รับแต่งตั้งเป็นนายกสมาคมศิษย์เก่าโรงเรียนมงฟอร์ตวิทยาลัย ในระหว่างปี พ.ศ. 2521 ถึงปี พ.ศ. 2522 และเป็นที่ปรึกษาสมาคมฯ ในปี พ.ศ. 2549
ช่วง เชวงศักดิ์สงคราม • เจ้าพระยาศรีธรรมาธิเบศ • หลวงศุภชลาศัย (บุง ศุภชลาศัย) • ทวี บุณยเกตุ • อดุล อดุลเดชจรัส • หลวงเกรียงศักดิ์พิชิต (พิชิต เกรียงศักดิ์พิชิต) • พระยาสุนทรพิพิธ (เชย สุนทรพิพิธ) • แสง สุทธิพงศ์ • ประจวบ บุนนาค • เล็ก สุมิตร • พระยาบริรักษ์เวชชการ (ไล่ฮวด ติตติรานนท์) • ประยูร ภมรมนตรี • ฟื้น รณนภากาศ ฤทธาคนี • เฉลิม พรมมาส • พระบำราศนราดูร (หลง เวชชาชีวะ) • ประเสริฐ รุจิรวงศ์ • อุดม โปษะกฤษณะ • คล้าย ละอองมณี • ประชุม รัตนเพียร • สวัสดิ์ คำประกอบ • ทวี จุลละทรัพย์ • ยงยุทธ สัจจวาณิชย์ • บุญสม มาร์ติน • เสม พริ้งพวงแก้ว • ทองหยด จิตตวีระ • มารุต บุนนาค • เทอดพงษ์ ไชยนันทน์ • ชาติชาย ชุณหะวัณ • ชวน หลีกภัย • ประจวบ ไชยสาส์น • ปิยะณัฐ วัชราภรณ์ • ไพโรจน์ นิงสานนท์ • บุญพันธ์ แขวัฒนะ • อาทิตย์ อุไรรัตน์ • เสนาะ เทียนทอง • มนตรี พงษ์พานิช • สมศักดิ์ เทพสุทิน • รักเกียรติ สุขธนะ • กร ทัพพะรังสี • สุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ • สุชัย เจริญรัตนกุล • พินิจ จารุสมบัติ • มงคล ณ สงขลา • ไชยา สะสมทรัพย์ • ชวรัตน์ ชาญวีรกูล • เฉลิม อยู่บำรุง • วิทยา แก้วภราดัย • จุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ • วิทยา บุรณศิริ • ประดิษฐ สินธวณรงค์ • รัชตะ รัชตะนาวิน • ปิยะสกล สกลสัตยาทร